วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วัตถุประสงค์ของการวิจัย


พวงรัตน์ ทวีรัตน์ (2538 : 6) กล่าวว่า
1                                      เพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้หรือทฤษฎี เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์มีความอยากรู้อยากเห็นและอยากรู้เหตุผลของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จึงทำการวิจัยเพื่อหาคำตอบ ทำให้เข้าใจและมีความรู้ใหม่ ๆ เป็นการเพิ่มพูนวิทยาการให้กว้างขวางลึกซึ้ง
2                                    เพื่อแก้ไขปัญหา ในการดำรงชีวิตของมนุษย์มักมีปัญหาหรือเหตุขัดข้องขึ้นอยู่เสมอ เช่น ปัญหาในการทำงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาการจราจร เป็นต้น มนุษย์จึงต้องทำการวิจัยเพื่อศึกษาสาเหตุและแนวทางแก้ปัญหา
3                                   เพื่อทดสอบหรือตรวจสอบข้อเท็จจริง ความรู้และทฤษฎีที่ได้มา เนื่องจากข้อเท็จจริงหรือความรู้มีการเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลา และสถานการณ์ที่แตกต่างกัน จึงควรมีการทดสอบว่าความรู้หรือทฤษฎีเหล่านั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกหรือไม่ 


ภัทรา นิคมานนท์ (2542 : 6) กล่าวว่า
1                                            เพื่อบรรยาย หรือพรรณนาข้อเท็จจริงหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการทำวิจัยที่เริ่มจากความไม่รู้ ผู้วิจัยจึงมุ่งทีจะค้นหาความรู้หรือรายละเอียดของข้อสงสัยนั้น ๆ ว่ามีลักษณะอย่างไร มีข้อเท็จจริงอะไรบ้าง เช่น การศึกษาลักษณะประชากรของกรุงเทพมหานคร การศึกษาบริบทชุมชน ซึ่งจะทำให้ผู้วิจัยทราบข้อเท็จจริงที่เป็นปัจจุบัน
2                                เพื่ออธิบายข้อเท็จจริงหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการทำวิจัยเพื่ออธิบายว่าปรากฏการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และเกิดผลกระทบอะไรบ้าง เช่น สภาวะโลกร้อน ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร เป็นต้น
3                                         เพื่อทำนายหรือพยากรณ์ ปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้น เป็นการทำวิจัยที่ต้องการบรรยายหรืออธิบายสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น โดยอาศัยความรู้หรือข้อมูลที่ได้จากการวิจัยในอดีตและหรือปัจจุบันมาเป็นแนวทางในการคาดคะเนเหตุการณ์ล่วงหน้าว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเกิดผลอะไร อย่างไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการทำงานในอนาคต


บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์ (2546 : 7) กล่าวว่า
1                              เนื้อหาเชิงบรรยาย การเขียนเนื้อหาวัตถุประสงค์ในลักษณะนี้จะบอกประเด็นปัญหาการวิจัยว่าเป็นอย่างไร หรือมีมากน้อยเพียงใด
2                              เนื้อหาของวัตถุประสงค์เชิงเปรียบเทียบ การเขียนเนื้อหาวัตถุประสงค์ในลักษณะนี้จะบอกประเด็นของการเปรียบเทียบ เช่น เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมการเปิดรับสื่อโทรทัศน์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยและนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอื่น ๆ
3                             เนื้อหาของวัตถุประสงค์เชิงสัมพันธ์ การเขียนเนื้อหาวัตถุประสงค์ในลักษณะนี้จะบอกความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันของตัวแปรตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป ซึ่งมีคำที่เกี่ยวข้องหลายคำ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อปัจจัยที่ทำให้เกิดผลต่อ เป็นต้น

สรุป
วัตถุประสงค์ของการวิจัย เป็นทิศทางของการดำเนินการวิจัยและทำให้เกิดความชัดเจนว่าในการวิจัยเรื่องนั้น ๆ ต้องการศึกษาอะไรในด้านใดบ้าง มีวัตถุประสงค์หลักหรือวัตถุประสงค์ย่อย ๆ อะไรบ้าง โดยปรกติวัตถุประสงค์ของการวิจัยจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้ชื่อเรื่องหรือปัญหาการวิจัยมีความชัดเจนมากขึ้น


บรรณานุกรม
บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์. (2546). คู่มือการวิจัย การเขียนรายงาน การวิจัยและวิทยานิพนธ์. พิมพ์ครั้งที่ 7.
กรุงเทพฯ : จามจุรีโปรดักท์.
พวงรัตน์ ทวีรัตน์. (2538). การวิจัยทางพฤติกรรมและสังคมศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ภัทรา นิคมานนท์. (2542). ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการวิจัย. กรุงเทพฯ : อักษราพิพัฒน์.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น