วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สมมติฐาน (Hypothesis)


ประดอง กรรณสูต (2529: 3) กล่าวว่า สมมติฐานเป็นข้อเสนอเงื่อนไขหรือหลักการสมมติฐานที่อาจไม่เป็นจริงก็ได้ หน้าที่ของสมมติฐานก็คือ ช่วยชี้แนวทางในการค้นหาข้อเท็จจริง ความคิดซึ่งมีอยู่ในสมมติฐานอาจเป็นคำตอบของปัญหาที่มีอยู่แล้ว หรืออาจไม่เป็นก็ได้ ความคิดต่างๆที่สมมติฐานเสนอแนะไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป อย่างไรก็ตามการวิจัยที่เริ่มต้นด้วยสมมติฐานที่แน่นอน ย่อมช่วยผู้วิจัยในการวางแผนเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างดียิ่งขึ้น


องอาจ นัยพัฒน์ (2548: 44) กล่าวว่า สมมติฐานช่วยบ่งชี้แนวทางการกำหนดคุณสมบัติหรือคุณลักษณะของตัวอย่าง การสร้างเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล การเก็บรวบรวมข้อมูล ตลอดจนการเลือกใช้วิธีการทางสถิติเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับหัวข้อปัญหาการวิจัย นอกจากนี้ยังช่วยจำกัดแง่มุมหรือขอบเขตของการศึกษาวิจัยให้มีความเฉพาะเจาะจงและรัดกุมยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้ประเด็นปัญหาการวิจัยที่ต้องการค้นหาคำตอบมีความชัดเจนยิ่งขึ้นตามไปด้วย


พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว (2545: 208) กล่าวว่า คำว่า สมมติฐาน” มาจากศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า Hypothesis ซึ่งได้มาจากภาษาและมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก hypo แปลว่า ข้อเสนอหรือข้อเสนอแนะ และศัพท์คำว่า hypotithenai แปลว่า ใส่ไว้ข้างล่าง
สมมติฐาน คือ ข้อความที่สมมติว่าเป็นจริงในประเด็นที่ต้องการพิสูจน์ ตรวจสอบหรือเป็นความคิดที่ก้าวหน้าในการอธิบายหรือทำนายปรากฏการณ์ทั้งหลาย


พิชิต ฤทธิ์จรูญ (2544: 103) กล่าวว่า สมมติฐาน (hypothesis) คือ คำตอบสรุปผลการวิจัยที่ผู้วิจัยคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าอย่างมีเหตุผล มีหลักการหรือมีทฤษฎีรองรับ สมมติฐานมีลักษณะที่สำคัญ คือ แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตั้งแต่ 2 ตัวแปรขึ้นไป และสามารถทดสอบได้
สมมติฐานการวิจัย (Research hypothesis) คือ ข้อความหรือประโยคที่ใช้คาดคะเนคำตอบของการวิจัยไว้ล่วงหน้า ซึ่งเป็นข้อความที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ศึกษาตั้งแต่ 2 ตัวแปรขึ้นไป ซึ่งการคาดคะเนนี้อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ จะต้องมีการทดสอบโดยอาศัยข้อมูลและวิธีการทางสถิติต่อไป


สรุป
สมมติฐาน (Hypothesis) หมายถึง แนวทางในการหาข้อเท็จจริงที่เป็นคำตอบของการวิจัยซึ่งผู้วิจัยคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าอย่างมีเหตุผล โดยมีหลักการและทฤษฎีต่างๆรองรับ ซึ่งเป็นข้อความที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ศึกษาตั้งแต่ 2 ตัวแปรขึ้นไป ซึ่งการคาดการณ์หรือการคาดคะเนของผู้วิจัยนี้อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ ซึ่งจะต้องมีการพิสูจน์โดยอาศัยวิธีการทางสถิติและข้อมูลเข้ามาช่วย นอกจากนี้สมมติฐานยังช่วยจำกัดขอบเขตของการศึกษาวิจัยให้มีความเฉพาะเจาะจงและรัดกุมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย


อ้างอิง/แหล่งที่มา
ประดอง กรรณสูต. (2549).สถิติเพื่อการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์. ปทุมธานี: บริษัท ศูนย์หนังสือ ดร.ศรีสง่า จำกัด.           
องอาจ นัยพัฒน์.(2548). วิธีวิทยาการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพทางพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์. (2548).     กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามลดา.
พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว. ศาสตร์แห่งการวิจัยทางการเมืองและสังคม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: สมาคมรัฐศาสตร์  แห่งประเทศไทย.
พิชิต ฤทธิ์จรูญ.(2544). ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ราชภัฏพระนคร.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น